samedi 5 avril 2008

Somport parle de มะขามเฒ่าบ้านเกิด Makhamtao, son village Laos-Phoin


มะขามเฒ่าบ้านเกิด
บ้านมะขามเฒ่าเป็นหมู่บ้านเล็กๆของตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มะขามเฒ่าแบ่งออกเป็นสองหมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๑ และ หมู่ที่ ๒ มีบ้านอยู่ประมาณ ๑๐๐ กว่าหลังคาเรือนซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯมาประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ ชาวบ้านมีอาชีพเป็นชาวไร่ชาวนา
ขอพูดถึงประวัติดั้งเดิมซึ่งคิดว่าคงไม่มีใครรู้ดีว่าคนที่ใช้ คำสัญญานามว่า “คมเคียวคันไถ” ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตของข้าพเจ้า นายสมโภชน์ กางกรณ์ จึงขอเอามาลงแทนที่ข้าพเจ้าเขียนไว้เป็นภาษาฝรั่งเศส ดังนี้
เมื่อปี พ.ศ. 2431 มีครอบครัวชาวพวน 7 ครอบครัว อพยพมาจากบ้านโคกกระเทียม ได้เเก่ครอบครัวพ่อเฒ่าเอี่ยม, ครอบครัว พ่อเฒ่าอ่ำ , ครอบครัวพ่อเฒ่าทัด , ครอบครัวพ่อเฒ่าสาลี , ครอบครัวแม่เฒ่าพรม ,ครอบครัวแม่เฒ่าฮอง , ครอบครัวแม่เฒ่าจันดี แต่ละครอบครัวต่างมีลูกหลานติดตามมาเป็นเด็กเล็กบ้าง เด็กรุ่นหนุ่มสาวบ้าง และ ในบรรดาเด็กรุ่นนั้นมีป้าอุมมากับป้าคำ สองพี่น้องพลัดจากพ่อแม่ที่หลวงพระบาง แม่เฒ่าพรมพบจึงรับไว้ และได้อพยพติดตามมาด้วยกันทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เดินมาเพื่อต้องการหาถิ่นฐานที่ทำกินเดินทางบุกป่าฝ่าดงจนกระทั่งมาพบต้นมะขามเฒ่ายักษ์ ยืนสงบอยู่ใกล้หนองน้ำ บริเวณนั้นมีเนินดินกว้างและมีหนองน้ำขนาดใหญ่ น้ำใสสะอาดและร่มรื่นมีร่องรอยของสัตว์ป่าหลายชนิดมาลงกินน้ำเนินดินนั้น กว้างและสูงพ้นจากน้ำท่วมน่าจะเคยเป็นที่อยู่ของคนสมัยโบราณมาก่อน หนองน้ำและเนินดินกว้างใหญ่นี้จะต้องเกิดมาจากการขุดดินในหนองมาถม เพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยของคนสมัยนั้นและที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ขุดดินลงไปก็เจอถ้วยชาม ไหแตก ที่เป็นดินเผาเเละต้นมะขามเฒ่านั้นมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่เท่าต้นมะขาม 1 ต้น ขนาดรองอีก 1 ต้น จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า ณ ที่เเห่งนี้อาจจะเคยเป็นวัดหรือที่บำเพ็ญทางศาสนามาก่อน
หลังจากสำรวจรอบนอกเนินดิน ก็เป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับเป็นที่ทำนาแล้วคณะผู้อพยพจึงตกลงกันตั้ง
หมู่บ้านขึ้น โดยใช้ชื่อว่าหมู่บ้าน”มะขามเฒ่า”โดยเอาต้นมะขามเฒ่าริมหนองน้ำเป็นศูนย์กลาง ทิศตะวันออกบริเวณ หนองน้ำ กั้นไว้เป็นเขตวัด ด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันตกเฉียงเหนือให้จับจองเป็นที่อยู่อาศัยแล้วก็บุกร้างถางพง ทำนาปลูกข้าวพัฒนาหนองน้ำให้กว้างขึ้นเพื่อน้ำอุปโภคบริโภคตลอดปี สร้างเหมืองฝายทดน้ำเข้ามาใน
หมู่บ้านพร้อมทั้งสร้างวัดขึ้นมาเพื่อทำนุบำรุงพระศาสนา โดยมีหลวงน้าไพ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ต่อมาอีกไม่นานก็มีครอบครัวพ่อเฒ่าเพียร พ่อเฒ่าสินทา พ่อเฒ่าเพชร สามครอบครัวย้ายจากบ้านทราย มาตั้งหมู่บ้านอยู่ที่ทุ่งนา จึงเป็นหมู่บ้านทุ่งใหญ่ปัจจุบันนี้ ต่อจากนั้นก็ร่วมพัฒนาวัด ศาลา โรงเรียนเอง โดยมิได้ออกไปเรี่ยไรเงินจากที่ใดๆเลย นับว่าเป็นการร่วมมือร่วมใจสามัคคีกันอย่างเป็นปึกแผ่นจริงๆ ในสมัยนั้นฝนตกตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ จนกล่าวกันติดปากว่า บ้านมะขามเฒ่า
“ข้าวเต็มนา ปลาเต็มฮ่อง” “หม่าเผ็ดเต็มโพน หม่าโต่นเต็มคั้ง”
ในทางศาสนานั้น อาจารย์วัดคนแรก คือ หลวงน้าไพ ท่านมาจากตระกูลแม่เฒ่าพรมตั้งแต่กลุ่มอพยพ รุ่นแรกนั้นมีบุคคลสำคัญสองท่านเดินทางมาด้วยคนแรก คือ เด็กชายสันทา อายุ 6 ปี เด็กชายอ่ำ อายุ 1 ปี ที่อองหลังพ่อมา ตอนแรกทั้งสองท่านนี้ ต่อมาคือพระครูสันทา ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสระเตย สันทานุสรณ์ และพระครูอ่ำ อุตตโม ผู้ก่อตั้งวัดโรงเรียนมะขามเฒ่า อ่ำราษฎร์ประดิษฐ์ หลังจากหลวงน้าไพถึงแก่กรรม พระครูอ่ำอุตตโม ก็ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสแทน ท่านก็พัฒนาวัด และก่อตั้งโรงเรียนอ่ำราษฎร์ประดิษฐ์ขึ้นมา การศึกษาเริ่มต้นจากโรงเรียนวัด ต่อมาเมื่อสร้างโรงเรียนขึ้นมาแล้วทางราชการก็มา สนับสนุนด้วยดีตลอดมา ทางด้านประเพณีท่านก็นำสืบทอดเสมอมา เช่น สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญควายเดือนอ้ายเดือนยี่ เดือนสาม สามค่ำเดือนข้าวหลาม ข้าวจี่ เดือนสี่บวชนาค เดือนห้าสงกรานต์ เดือนหกเวียนเทียน เดือนเเปดเเห่เทียนพรรษา เดือนเก้าห่อข้าวสารทพวน เดือนสิบทอดผ้าป่าสามัคคี เดือนสิบเอ็ดทอดกฐิน เดือนสิบสองทำบุญเทศน์มหาชาติ ข่วยกระจาด
เเต่ก่อนๆนั้น วันดีคืนดีจะมีเเก้วมณีเรืองเเสง เขียว เเดง เหลือง ลอยออกมาจากต้นมะขามไปทาง ตะวันออกทางโบสถ์พรหมทินใต้เเละโนนเจดีย์หรือบางครั้งลอยไปทางตะวันตก ถ้ำเขาสาริกา เเละที่เเน่นอนที่สุดก็คือมะขามเฒ่าเเห่งนี้ผลิตนักปราชญ์ทางศาสนามาเป็นเจ้าอาวาสปกครองพระ
สงฆ์มาเเล้ว 10 องค์ เป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล อุปัชฌาย์ พระครูฎีกา พระอธิการ ฯลฯ สิ่งมงคลที่มีอยู่ในมะขามเฒ่าต้นนี้จะมีส่วนบันดาลหรือไม่ ข้าพเจ้ามิอาจจะลบหลู่ได้
หนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าแต่งเป็นกลอนเซิ้ง ซึ่งเป็นคำเซิ้งที่ชาวพวนแต่งสำหรับแห่งนางแมว แห่บั้งไฟ เซิ้งนางกวักสมัยโบราณ ข้าพเจ้านำมาดัดแปลงผสมกับกลอนแปด เพื่อปรับให้คนสมัยใหม่อ่านง่ายขึ้น การใช้คำภาษาก็ปนเปกับคำพวนและไทยผสมกันเป็นการเล่าประวัติความเป็นมาของคนสมัยก่อนที่อพยพมาตั้ง
หมู่บ้านมะขามเฒ่า ซึ่งข้าพเจ้าได้ฟังปู่ ย่า ตา ยาย เล่าต่อกันมา จึงเล็งเห็นว่านานไปคนรุ่นหลังอาจจะ ไม่รู้ความเป็นมาของหมู่บ้านมะขามเฒ่าของเรา จึงขึ่นเป็นคำกลอนเซิ้ง เพื่อให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน
ของคนพวน ดังต่อไปนี้.....
หากผิดตกบกพร่องข้าพเจ้าขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่หากจะมีส่วนดีมีประโยชน์สำหรับการเรียนรู้อยู่บ้าง ข้าพเจ้าขออุทิศความดีเหล่านี้ให้กับบรรพบุรุษชาวไทยพวนที่ย้ายมาบุกร้างถางพงในสมัยครั้งก่อนโน้นด้วยเทอญ
คมเคียว – คันไถ

จี่ขอเว้า ความเก่า ครั้งก่อน
จี่ขอย้อน ปางก่อน ความหลัง
เป็นกลอนเซิ้ง เฮ้อหมู่ เจ้าฟัง
คราวมาตั้ง มะขามเฒ่า ชาวพวน
หมู่ผู้เฒ่า เพิ่นเว้า มาว่า
คนโคกกะเทียมบ่มี นาสวน
ปี สอง สี่ สาม หนึ่ง ชาวพวน
เจ็ดครัว ชวนย้าย ของหาบมา
พ่อเฒ่าเอี่ยม พายบั้งน้ำใหญ่
ชิงดักไก่ หน้าไม้ ใส่บ่า
มัดมีดจอบ ไม้คาน หาบมา
เมียห่อผ้า หิ้วกะต่า หม้อทอง
เฒ่าทัด เเบกปืน คาบศิลา
ถือมีดพร้า ออกหน้า นำร่อง
ลูกคนโต หาบเครื่อง หาบของ
ลูกผู้รอง อองน้อง ป้องลม
เฒ่าอ่ำ อุ้มลูกอ่ำ ขี่คอ
ขะม้าทอ โพกหัว เอ็ดฮ่ม
ลูกเพิ่นคือ พระครูอุดม
คุณากรปฐมหมู่เฮา
เฒ่าจันดี มีสองพี่น้อง
แม่เฒ่าฮองเพิ่นเป็นป้าเขา
พายข้าวสารถ้วยจานหาบเอา
เครือหูกเหามัดนาบหาบมา
แม่เฒ่าพรม ห่อผ้าจูงหลาน
ผัวแบกขวานหอบตานนกป่า
ป้าสาลีหาบเครื่องของมา
พระครูสันทาวัยห้าหกปี
ป้าอุมมา ป้าคำพี่สาว
หนีจากลาวอายุสิบสี่
พลัดแม่พ่อ แกวฮ่อ ต่อตี
น้องและพี่แล่นหนีสงคราม
หมู่นี้คือแต่กกแต่เค้า
เพิ่นก่าเว้า เจอะต้นมะขาม
ต้นใหญ่เฒ่ายืนเฝ้าหนองน้ำ
เหนือต้นขาม มีต้นโพธิ์ไฮ
วางหาบปง ย่างลงกินน้ำ
ข้าหนองนี้ มีฮังไข่ไก่
ฮอยเก้งกวาง สัตว์ป่าลงไป
น้ำเสอใส ปลาใหญ่ ลอยตาม
บ่อนนี้คือ ที่อยู่ ชุ่มเย็น
บ่อนนี้เป็น ที่คนเกรงขาม
บ่อนนี้เหมาะ ก่อตั้ง อาราม
ต้นมะขาม อายุยืนยาว
หนองน้ำใหญ่ ยังมีโนนใหญ่
ขุนดินไป เจอถ้วย ไหเก่า
อาจเป็นบ้าน กาลก่อนหมู่เฮา
พุทธเจ้า บันดาล ให้มา
ที่ลุ่มดี มีหนองหมูลง
ไม้ไผ่บง ก่ามี เต็มป่า
เกี่ยวหญ้าแฝก มามุง หลังคา
ไม้ในป่า มาแปลงเฮือนงาม
เนินกว้างใหญ่มีไม้มงคล
มีสามต้นกอใหญ่ไม้ขาม
มะขามเฒ่า บ้านเฮาเรืองนาม
พันธุ์ไม้งาม ทุ่งเขียวขจี
มาหมู่เฮา พร้อมลูกและหลาน
มาตั้งศาลกราบกรานเจ้าที่
เอาดอกไม้ ธูปทองของพลี
ขอพื้นที่ปลูกบ้านฮ้านนอน
ต่อจากนั้นพากันตั้งเตา
พักหุงข้าวมาเซาแฮงก่อน
ผู้ชายไป ยิงไก่-พังพอน
เซาะหาบ่อน ที่ไร่ ไฮ่นา
ฝ่ายแม่หม้ายผู้บ่มีผัว
กลัวว่าตัวบ่มีผู้หา
ฮีบจองที่ก่อนผู้ชายมา
ต่างฮีบพากันมาจองเอา
เดือดร้อนจริงหญิงที่มีผัว
เกรงที่ตัวจี่บ่ได้คือเขา
ทิ้งหม้อข้าวฮีบไปยาดเอา
มีคำเว้าต่อ ต่อกันมา
ว่าบ้านนี้เป็นเมืองแม่หม้าย
พวกผู้ชายไร้วาสนา
ผัวมักตายก่อนภรรยา
ผู้หญิงพากันตั้งบ้านเอง
ปลูกบ้านแล้วก่อสร้างศาลา
เจ็ดหลังคาเผอบ่ข่มเหง
ต้นมะขามคนขามยำเกรง
หมู่นักเลงบ่มาก่อภัย
อีกบ่นานบ่ทันสิบปี
มีคนดีย้ายที่มาใหม่
ลุงพียร-สันทา มาแต่บ้านทราย
ลุงเพชรย้ายมาอยู่ปลายนา
มาก่อตั้งกลุ่มบ้านทุ่งใหญ่
ต่างเลื่อมใสในศาสนา
เพิ่นร่วมกันก่อสร้างศาลา
เอาวัดมาปรับเป็นโรงเรียน
หลวงพ่อไพได้เป็นเจ้าวัด
เพิ่นเริ่มหัดให้คนอ่านเขียน
หนังสือพวนเพิ่นมีเฮ้อเฮียน
ผู้ใดเพียรหัดอ่านบาลี
เจ้าหัวอ่ำ เจ้าหัวสันทา
ได้ศึกษาในสำนักนี่
พระสันทา แก่ก่อนห้าปี
เฮียนบาลี พระธรรมวินัย
มาบ่นาน อาจารย์สันทา
เพิ่นทะนาไปสระเตยใหญ่
เจ้าอาวาสองค์เก่าตายไป
นิมนต์ให้เป็นเจ้าอาวา
อยู่ต่อมาเจ้าหัวน้าไพ
เพิ่นเป็นไข้ตายในพรรษา
จึงนิมนต์ พระอ่ำ ขึ้นมา
พัฒนาวัดวาโรงเรียน
สร้างโรงเรียนอ่ำราษฎร์ประดิษฐ์
ให้ลูกศิษย์ เฮียนคิดเอียนเขียน
เกณฑ์ผู้เฒ่ามาเข้าโรงเรียน
เฝ้าพากเพียรศึกษาอบรม
ฝนตกสู่ตามฤดูกาล
คนหมู่บ้านต่างมีสุขสม
ปู ปลา ข้าวบ้านเฮา อุดม
พอเหมาะสมสังคมพอดี
ข้าวขึ้นยุ้งสู่ขวัญเดือนอ้าย
สู่ขวัญควายตอนปลายเดือนยี่
ขึ้นสามค่ำ เดือนสามทุกปี
บุญข้าวจี่ ข้าวหลาม กำฟ้า
ตกเดือนสี่ บวชลูกเอาบุญ
ตำข้าวปุ้นหาหมูมาฆ่า
ตีกลองแกแห่ช้างขี่ม้า
นาคขี่มาแม่หอบผ้าไตร
จากเดือนสี่เข้าสู่เดือนห้า
สงกรานต์มาเดือนห้าปีใหม่
เล่นหม่าอื่อ หม่าเบี้ยบั้งไฟ
เดือนหกไปแฮ่ะไฮ่ ไถนา
ขื้นเดือนหกทำบุญกลางบ้าน
วิสากาล เพ็ญขี้น สิบห้า
จุดเทียนเวียนวิสาขะบูชา
หนุ่มสาวนาพาเทียนเวียนวน
กลางเดือนแปดถวายเทียนพรรษา
ถวายผ้า อาบน้ำฝน
ผ้าจำนำพรรษาอีกคน
สาธุชนเข้าวัดฟังธรรม
สิ้นเดือนเก้าห่อข้าวชาวพวน
ชาวบ้านกวนขนมจนค่ำ
กระยาสารทใส่ถั่ว งาดำ
พากันตำ ข้าวปุ้นบุญปี
ถึงเดือนสิบเลิกจากทำนา
ทอดผ้าป่าต่างวัดหลายที่
หนุ่มสาวนารำสามัคคี
ข้าวปลามีหาสู่กันกิน
เดือนสำเอ็ดตักบาตรเทโว
แต่งตัวโชว์งานทอดกฐิน
แข่งเส่งกลอง ตีฆ้องดีดพิณ
แห่กฐินอัฐถะรำวง
เดือนสิบสองบุญข่วยกระจาด
มหาชาตินิมนต์พระสงฆ์
เณรเสียงดีมัทรีสององค์
ส่วนพระสงฆ์มหาราชนคร
อยู่เป็นสุขสนุกทั้งปี
ประเพณียึดมั่นสั่งสอน
พระครูอ่ำอุดมคุณากร
เพิ่นสั่งสอนยึดประเพณี
หมู่บ้านนี้มีสิ่งดีงาม
ต้นมะขามเฒ่ามีเจ้าที่
สิบห้าค่ำมื้อปลอดยามดี
แก้วมณีเปล่งสีออกมา
ก่อนแต่เก่าเพิ่นเว้ามาว่า
กลมฮุ่งใส ลอยไปบนฟ้า
ไปลงโบสถ์เขาสาริกา
พรมทินใต้มาโนนเจดีย์
ศาลเจ้าปู่มะขามต้นใต้
ทุกปีได้เลี้ยงไก่ไหวัผี
ตาปู่บ้านคุ้มลูกหลานดี
พลีหัวหมูคู่ขนมตาควาย
ถึงปีสองพันห้าหนึ่งห้า
อุปัชญาย์เพิ่นมาล้มหาย
อายุแปดสิบห้าปีปลาย
พรรษาได้หกสิบสี่ปี
จึงนิมนต์เจ้าหัววันนา
มาปกครองอาวาแทนที่
พระอดุลย์ธรรมกร ยสมี
เป็นรองหนึ่งว่าที่เจ้าตำบล
ถึงสงกรานต์จัดงานสรงน้ำ
ศิษย์ปู่อ่ำทุกแห่งทุกหน
แห่หลวงตาจากศาลาบน
มาตั้งโคนต้นมะขามทอง
นัดจัดงานประเพณีสงกรานต์
กลับมาบ้านรวมหมู่หนึ่งสอง
ตั้งโต๊ะจีนทำบุญปิดทอง
ร่วมฉลองตักบาตรทำบุญ
อีกหนึ่งข้อขอต่อคำเว้า
มะขามเฒ่าวัดเฮาเอื้อหนุน
แหล่งเฮียนฮู้ของผู้มีบุญ
ผู้ทรงคุณพลังปัญญา
แดนบัณฑิตผลิตเจ้าอาวาส
มาประกาศพระศาสนา
เปรียบเปรยเป็นเช่นนาลันทา
ตักกะสิลาระดับตำบล
ตัวอย่างมาเจ้าหัวน้าไพ
สร้างวัดใหม่ในยุคต้นต้น
เจ้าอาวาสประกาศกุศล
เป็นอธิการองค์ต้นบวร
อยู่สระเตยพระครูสันทา
พระฎีกาสันทานุสรณ์
ออกมาจากมะขามเฒ่าโคจร
สระเตยตัอนเป็นเจ้าอาราม
องค์ที่สามอ่ำอุตตะโม
เจ้าสังโฆแห่งต้นมะขาม
พระอุดมคุณากร- นาม
เจ้าเขตคามนามเจ้าตำบล
พระครูเทียนนิวิชธรรมคุณ
บวชแรกรุ่นพระคุณฝึกฝน
ก่อนมาเป็นเจ้าคณะตำบล
อยู่ใต้ต้นมะขามเฒ่าเยาว์วัย
องค์ที่ห้าคือพระครูปาน
อธิการบ้านป่าแดงใหญ่
พระวิลาสธรรมขัณฑ์ – ยศใด้
เจ้าคณะพิจิตร สะพานหิน
องค์ที่หกพระครูวันนา
เจ้าอาวา พัฒนาท้องถิ่น
อดุลย์ ธรรมกร- รับจากภูมินทร์
พาถือศิลไหว้พระสวดมนต์
องค์ที่เจ็ด พระครูมณี
มีศักดิ์ศรี เจ้าคณะตำบล
ยศศีลาวุฒิกร - มงคล
เขานิมนต์เป็นอุปัชฌาย์
คนที่แปดมหาถาวร
ธานันดรชั้นโทได้มา
แต่ว่าท่านได้ลาสิกขา
สึกออกมาสู่สภา อบต.
องค์ที่เก้าพระฎีกาสงัด
เป็นเจ้าวัดเมืองกาญจน์เพิ่งก่อ
สร้างวัดมาบ่ นาน พ.ศ.
ท่านมาขอผ้าป่าบ้านเรา
องค์ที่สิบอาจารย์ดิเรก
เป็นองค์เอกอยู่สามแยกหลุ่ข้าว
สิบองค์มาจากมะขามเฒ่า
มาเป็นเจ้าอาวาสทุกคน
บารมีต้นมะขามเป็นพลัง
มีมนต์ขลังอยู่ในตัวตน
เป็นมหานาสันทาตำบล
สร้างบุคคลนักปราชญ์ทางธรรม
หากผิดตกบกพร่องข้าพเจ้าขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่หากจะมีส่วนดีมีประโยชน์สำหรับการเรียนรู้อยู่บ้าง ข้าพเจ้าขออุทิศความดีเหล่านี้ให้กับบรรพบุรุษชาวไทยพวนที่ย้ายมาบุกร้างถางพงในสมัยครั้งก่อนโน้นด้วยเทอญ
คมเคียวคันไถ
คำแปล
ภาษาพวน = ภาษาไทย
จี่ขอเว้า =จะขอพูด
โพธิ์ไฮ =ต้นโพธิ์
เซิ้งเฮ้อฟัง= ร้องให้ฟัง
โนนกว้าง = เนินดินกว้าง
เพิ่นเว้า =ท่านพูด
ตั้งเตา = เตาหุงข้าว
บ่มี =ไม่มี
เซาะเบิ่ง =หาดู
พายบั้งน้ำสระพายกระยอกใส่น้ำ
ฮีบจอง = รีบจับจองที่
ชิงกักไก่ =ข่าย หรือ กับกักไก่
ฮ้านนอน= เตียง, แคร่
กะต่า = ตะกร้า
หม่าอื่อ หม่าเบี้ย = การละเล่นพื้นเมือง
หม้อทอง= หม้อหุงข้าว, หม้อทองเหลือง
ข้าวปุ้น= ขนมจีน
ปืนควบศิลา= ปืนล่าสันว์ใช้หินเหล็กไฟตี
ข่วยกระจาด = ประเพณีบุญมหาชาติ
อองยังลม= เอาขี่หลัง
เอาบังลม เส่งกลอง= ตีกลองแข่งเสียงดัง
ขะม้าทอ= ผ้าขะม้าทอเอง
ตาปู่= เจ้าพ่อศาลเจ้า
เอ็ดฮ่ม= บังแดดเป็นร่ม
แฮ๊ะนา =แรกนา (ขวัญ)
เครือหูกเหา= เครื่องอุปกรณ์ทอผ้า
เจ้าหัว = พระสงฆ์
มัดนาบ = มัดรวมกัน
เพื่น= เขา , ท่าน
ตาน= ตาข่ายดักนกป่า
เฮียน= เรียน
พวกฮ่อ = แกว
จีนฮ่อ =ญวน เจอะ
เจอ= พบ
ย่างลง = เดินลง
บ่อนนี้ =แห่งนี้
ทะนา= อาราธนา
ฮอย= รอย
เพิ่นก่าเว้า= ท่านเขาพูด
แล่น =วิ่ง
จี่ขอย้อน = จะขอเล่าความหลัง
นาลันทา = หมาลัยสงฆ์อินเดีย
แปงเฮือนงาม= สร้างบ้านงาม
ไผ =ใคร